วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ศาลบุรีรัมย์พิพากษาสั่ง"ร.ฟ.ท."ชดใช้ 14 ล้าน - โศกนาฏกรมชนรถ นร.ดับ 9 ศพ

บุรีรัมย์ - ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ มีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย
ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับพ่อแม่เด็กนักเรียนและคนขับรถรับส่งนักเรียนที่
ถูกรถไฟชนเสียชีวิตรวม 9 ราย เมื่อ 14 ม.ค.ที่ผ่านมารวมเป็นเงินกว่า 14
ล้าน ชี้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ทำเครื่องกั้นรถไฟ
จนก่อให้เกิดโศกนาฏกรรม

วันนี้ (23 ก.ค.) ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ได้อ่านคำพิพากษาคดีแพ่ง
หมายเลขดำที่ 373/2552 ที่ นายทองจันทร์ ศรัทธาธรรม กับพวกรวม 12 คน
ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำเลย
ในข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหาย เป็นเงินจำนวน 54.5 ล้านบาท
ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2552

โดยศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ได้พิพากษาสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย
รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้กับโจทก์ ทั้ง 12 คน
กรณีที่ขบวนรถไฟได้พุ่งชนรถรับส่งนักเรียน ที่บริเวณแยกหนองแสง
ในเขตเทศบาลตำลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์
เหตุเกิดเมื่อเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2552 ที่ผ่านมา
ทำให้เด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลบำรุงวิทยา โรงเรียนธารทองวิทยา
และคนขับรถ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จำนวน 9 ราย เป็นเด็กนักเรียน 8 ราย
และ คนขับรถ 1 ราย อีกทั้งยังมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

ศาลได้วินิจฉัยว่า
จุดที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางข้ามรถไฟอยู่ในเขตเทศบาลมีประชาชนสัญจรไปมาพลุก
พล่านตลอดเวลา แต่กลับไม่การติดตั้งเครื่องกั้น
ทั้งที่ทางจำเลยมีหน้าที่ดูแลกิจการด้านรถไฟของประเทศไทย
ทั้งด้านการจัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัย การให้บริการ
และความสะดวกต่างๆ ของกิจการรถไฟ แต่กลับปล่อยปะละเลย
และไม่มีพนักงานควบคุมดูแลประจำ

การรถไฟประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ไม่ทำการติดตั้งเครื่องกั้นรถไฟ จนก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว
จึงได้มีคำสั่ง ให้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นจำเลย
รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้กับโจทก์
โดยให้ชดเชยชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 และ 2 จำนวน 1,298,300 บาท โจทก์ที่
3 และ 4 จำนวน 2,104,450 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 1,939,000 บาท โจทก์ที่ 6
จำนวน 1,684,700 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 1,800,400 บาท โจทก์ที่ 8 และ 9
จำนวน 1,781,775 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 1,860,000 บาท และโจทก์ที่ 11
จำนวน 1,918,900 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 14,387,525 บาท

นางสนอง นาคินชาติ อายุ 42 ปี
ผู้ปกครองเด็กนักเรียนที่ถูกรถไฟชนเสียชีวิต เปิดเผยว่า
ถึงแม้ศาลชั้นต้นจะตัดสินให้ชนะในคดีนี้
แต่ความโศกเศร้าและความทรงจำที่สูญเสียหลานชายไปยังไม่เลือนหาย
อยากให้ทางการรถไฟฯออกมารับผิดชอบ และยุติคดีเพียงเท่านี้
เพราะผู้ปกครองทั้งหมดที่เป็นโจทก์ฟ้องล้วนแล้วแต่เป็นผู้สูญเสีย
เพราะเงินจำนวนนี้จะสามารถเยียวยาครอบครัวได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

"จนถึงขณะนี้บริเวณทางข้ามรถไฟที่เกิดเหตุดังกล่าวทางการรถไฟฯ
ก็ยังไม่มีการมาดูแล เพิ่มระบบความปลอดภัยแต่อย่างใด มีเพียงเทศบาลฯ
เข้าไปทำแผงกั้นให้กับผู้สัญจรไปมาเท่านั้น" นางสนอง กล่าว

ทางด้าน นายวุฒิกาญจน์ กุลสุวรรณ ทนายความ และ
กรรมการสภาทนายความจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า
คดีนี้ทางทนายความได้ฟ้องเป็นคดีอานาถา
โดยยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเนื่องจากผู้ปกครองล้วนแต่เป็นผู้ยาก
จน โดยได้ยื่นฟ้องมาตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2552 ที่ผ่านมา
จนในที่สุดวันนี้ศาลได้อ่านคำพิพากษาตัดสิให้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย
ซึ่งเป็นจำเลย ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับโจทย์ที่ 1 - 11
รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 14 ล้านบาท

"คดีนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทราบเรื่องแล้ว
แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ยื่นคำให้การต่อสู้คดี
และศาลได้สืบพยานฝ่ายโจทย์เพียงฝ่ายเดียว จนมีคำพิพากษาตัดสินในวันนี้"
นายวุฒิกาญจน์ กล่าว

1 ความคิดเห็น:

  1. มันไม่มีเครื่องกั้นนานแล้วคะ..ถึงวันนี้มีบางจุดก็ใช้ไม่ได้

    ตอบลบ